เกร็ดตรุษจีน # 4 ตำนานคืนส่งท้ายปีเก่า

ที่มา คุณ peijing Bloggang.com


ชาวจีนมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ
ฉูซีเยี่ย (除夕夜) ” หรือ "คืนส่งท้ายปีเก่า" ว่า
ในยุคโบราณสมัยที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีสัตว์ประหลาดที่ดุร้ายมากตัวหนึ่ง
ชื่อว่า “ เหนียน (年) ” ทุกปีในคืนวันส่งท้ายปี
จะขึ้นจากทะเลมาอาละวาดทำร้ายผู้คนและทำลายเรือกสวนไร่นา
ในวันนี้ของทุกปีชาวบ้านจึงมักจะหลบกันอยู่แต่ในบ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่มืด
ปิดประตูหน้าต่างแน่นหนา และไม่หลับไม่นอนเพื่อเฝ้าระวัง
รอจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นจึงเปิดประตูออกมา
และกล่าวคำยินดีแก่เพื่อนบ้านที่โชคดีไม่ถูก “ เหนียน ” ทำร้าย


ในคืนส่งท้ายปีของปีหนึ่ง
“เหนียน” ได้เข้าไปอาละวาดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งและกินชาวบ้านจนเรียบ
ยกเว้นคู่บ่าวสาวที่เพิ่งแต่งงาน
และเด็กคนหนึ่งที่กำลังเล่นประทัดอยู่กลางถนน
เหตุที่ทำให้คู่บ่าวสาวปลอดภัย เนื่องจากทั้งคู่สวมชุดสีแดง
ส่วนเด็กที่ปลอดภัยก็เพราะเสียงประทัดที่ดังสนั่น
ทำให้ “เหนียน” ตกใจกลัวหนีไป
ชาวบ้านจึงรู้ถึงจุดอ่อนของ “เหนียน”


ดังนั้น เมื่อถึงคืนส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านจึงพากันสวมใส่เสื้อผ้าสีแดง
นำสิ่งของที่มีสีแดงมาประดับตกแต่งบ้านเรือนและจุดประทัดให้มีเสียงดังๆ
ทำให้ “เหนียน” สัตว์ประหลาดตัวร้ายไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก
ชาวบ้านจึงอยู่กันอย่างสงบสุข
จากนั้นมาจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติ ในคืนส่งท้ายปีจะไม่ยอมนอน
เพื่อ “ เฝ้าปี ” หรือเรียกในภาษาจีนว่า “ โส่วซุ่ย (守岁) ”
คือ การเฝ้าดูปีเก่าล่วงไปจนวันใหม่ย่างเข้ามา.




เด็กๆ พากันเล่นพลุไฟอย่างสนุกสนาน




การตกแต่งประดับอาคารด้วยโคมไฟสีแดงดวงใหญ่




โคมไฟสีแดงสวยสดเต็มท้องถนนในเทศกาลตรุษจีน




ที่มาของการติดอักษร " ฝู (ฮก) " กลับหัว





ทุกปีเมื่อย่างเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน
ในภาษาจีนกลางเรียกว่า " ชุนเจี๋ย "
ตามปฏิทินจันทรคติจีนตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย
และจะยาวนานเรื่อยไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย
ซึ่งเป็น วันเทศกาลโคมไฟ( หยวนเซียวเจี๋ย หรือ เติงเจี๋ย )
ชาวจีนผู้นิยมสีแดงในสายเลือด จะตกแต่งประดับประดาบ้านเรือน
และร้านค้าด้วยกระดาษแดง ภาพวาด ภาพกระดาษตัดสีสันสดใส
สร้างบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง


และเพื่อเป็นการต้อนรับความสุขและขอโชคขอพร
ชาวจีนช่างคิดก็ยังนำอักษรจีนที่หมายถึง ความผาสุกและโชคดีสิริมงคล
เช่น ตัว " ฝู " (福) หรือตัว " ชุน " ( 春)
มาติดที่บานประตูหน้าบ้าน กำแพง หรือ บริเวณเหนือกรอบบนของประตู
ซึ่งประเพณีดังกล่าวมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยซ่ง และตามที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า
การติดตัวฝูนี้ก็ควรกลับหัว เพื่อให้พ้องกับเสียงในภาษาจีนกลาง
ที่มีความหมายว่า สิริมงคล หรือ โชคดีได้มาถึงบ้านแล้ว
เรื่องการกลับหัวตัวอักษรนี้ มีเหตุที่มาเมื่อครั้งอดีตกาล
ซึ่งเล่าสืบกันมาในหมู่สามัญชนว่า


สมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู่จูหยวนจางแห่งราชวงศ์หมิง
ได้ใช้อักษร ‘ ฝู ’ เป็นเครื่องหมายลับในการสังหารคน
หม่าฮองเฮา ทราบเรื่อง
จึงคิดอุบายเพื่อหลีกเลี่ยงภัยดังกล่าวไม่ให้เกิดแก่ราษฎร
จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ทุกบ้านติดตัวฝูที่หน้าประตูบ้าน
เพื่อลวงให้ฮ่องเต้สับสน
รุ่งขึ้นชาวเมืองต่างนำตัวอักษรฝูมาติดที่หน้าประตูตามนั้น
ทว่า มีบ้านหนึ่งไม่รู้หนังสือจึงติดตัวฝูกลับหัวด้วยความไม่ตั้งใจ
เมื่อฮ่องเต้ทอดพระเนตรเห็นเข้าก็ทรงกริ้ว รับสั่งให้ประหารคนในบ้านทั้งหมด
หม่าฮองเฮา เห็นท่าไม่ดีจึงรีบทูลยับยั้งไว้ว่า
‘ บ้านนี้ทราบว่าพระองค์จะเสด็จมา จึงตั้งใจติดตัวฝูกลับหัว ( 福倒-ฝูเต้า)
เพื่อแสดงความปิติยินดีต่อการเสด็จเยือนของพระองค์
ราวกับว่า ความสุขสวัสดีและโชคลาภได้มาถึงที่บ้าน ’
ได้ยินดังนี้แล้ว ฮ่องเต้จูหยวนจาง จึงไว้ชีวิตชาวบ้านผู้นั้น


การติดตัวฝูกลับหัวสืบต่อมา
นอกจากเพื่อขอโชคสิริมงคลตามความหมายของตัวอักษรแล้ว
ยังเป็นการระลึกถึงคุณความดีของหม่าฮองเฮาในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย



*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์
- กระทรวงวัฒนธรรมจีน
- http://www.the-gallery-of-china.com
- BG สวยๆ จาก คุณ lozocat

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แหล่งเงินทุนธนาคารพาณิชย์

อาหารปลอดภัยด้วยรังสี

ไไไใเนนเสำใแนท = พิมผิดคร้าบบ