เกร็ดตรุษจีน # 1 ฉูซี (วันส่งท้ายปี)

ที่มา คุณpeijing bloggang.com

ตรุษจีนที่แผ่นดินใหญ่(ประเทศจีน)

ถือเป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่ง นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนแล้ว
ยังเป็นช่วงวันเฉลิมฉลอง, วันหยุดพักผ่อน-ท่องเที่ยว
หลังจากที่ตรากตรำทำงานกันมาทั้งปี
เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ สนุกสนานและชอบมาก
เพราะเมื่อถึงวันตรุษจีน ก็หมายถึง
วันที่เด็กๆ จะได้รับแจกซองแดง(อั่งเปา)จากผู้ใหญ่กันจนเต็มกระเป๋า
กลายเป็นเศรษฐีน้อยๆ กันในวันนี้



อย่าว่าแต่เด็กๆ เลย ทุกวันนี้เมื่อใกล้ถึงวันตรุษจีน
เราเองก็รู้สึกตื่นเต้น In กับบรรยากาศตรุษจีนทุกปี
ยิ่งกว่าวันปีใหม่สากล หรือ วันสงกรานต์ ซะอีก
รู้สึกว่า ปีใหม่ของชีวิตจริงๆ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในวันชิวอิกนี่เอง
แม้ว่าหลังๆ วันตรุษจีนในบ้านเรา
จะไม่ค่อยมีบทบาทเด่นชัดเหมือนสมัยก่อนก็ตามที



ป๊าเคยเล่าให้ฟังว่า
สมัยก่อนตรุษจีนที ร้านรวงต่างๆ พากันปิดฉลองวันตรุษจีนกันหมด
ถนนหนทางนี่เงียบไปเลย ของกินก็หากินยาก
เพราะร้านค้าต่างๆ เจ้าของร้านส่วนใหญ่จะเป็นคนจีน
และชาวจีนเป็นคนที่ขยันทำมาหากิน ทำงานค้าขายกันตลอดทั้งปี
แทบจะไม่มีวันหยุดถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
เมื่อถึงวันตรุษจีน
จึงเป็นช่วงเวลาของการหยุดพักผ่อนและเที่ยว ไม่มีการทำงานใดๆ
บรรดาลูกจ้างก็จะได้หยุดพักผ่อนไปด้วย
จะเริ่มหยุดกันตั้งแต่วันไหว้ไปจนถึง ชิวซา
และจะเริ่มต้นการทำงานของปีใหม่ในวันที่เรียกว่า ชิวสี่



แต่ปัจจุบันนี้สภาวะสังคมเปลี่ยนไป
ตรุษจีนในไทยได้ลดบทบาทลง
เป็นเพียงประเพณีปฏิบัติที่สืบต่อกันเฉพาะในครอบครัว
ร้านค้า บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็แทบไม่หยุด เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดสากล
จะไปหยุดยาวกันก็ช่วงสงกรานต์แทน

วันนี้ตั้งใจจะมาชวนทุกคนไปดูว่า เมื่อถึงวันตรุษจีนที่แผ่นดินใหญ่
เขาทำอะไรกันบ้าง และมีความแตกต่างกับตรุษจีนในบ้านเรายังไง
เริ่มต้นกันที่




‘ ฉูซี (除夕) ’ : วันส่งท้ายปีเก่า

วันส่งท้ายปีเก่าหรือที่เรียกว่า " ฉูซี (除夕) "
คือ วันที่ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน
บางครั้งเรียก ‘ ซุ่ยฉู ’ (岁除) และ ‘ ฉูเย่ ’ (除夜) หรือ คืนส่งท้ายปีเก่า
ถือเป็นวันสำคัญที่สุดและครื้นเครงที่สุดวันหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน
โดยในวันนี้บ้านช่องจะสะอาดเอี่ยมอ่อง
เนื่องจากผ่านการปัดกวาดขนานใหญ่มาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ เจ้าของบ้านจะนำ ‘ เหมินเสิน ' ( 门神) และ
ชุนเหลียน ’ (春联 ) และ ‘ เหนียนฮว่า ’ (年画 )
มาติดที่ประตูบ้าน และในวันนี้ลูกเล็กเด็กแดงจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่
จะสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่สีสันสดใสกันถ้วนหน้า



‘เหมินเสิน (门神)’ เทพผู้พิทักษ์ประตู



ภาพวาดสองยอดขุนพล ที่กลายเป็นเทพเจ้าผู้พิทักษ์ประตู หรือ " เหมินเสิน "



ในวันส่งท้ายปีเก่าหรือที่เรียกว่า ฉูซี (除夕)
ชาวจีนมีธรรมเนียมในการติด ‘เหมินเสิน (门神)’
หรือ ภาพเทพเจ้าผู้คุ้มครองประตู ไว้ที่ประตูบ้านของตน

‘เหมินเสิน’ มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน
ในอดีตกาลจะถือว่า ตัวประตูเป็นเทพเจ้าโดยตรง
จนกระทั่งหลังสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 B.C.- ค.ศ.220)
จึงได้ปรากฏการใช้ภาพคนมาเป็นตัวแทนเทพเจ้า
แรกเริ่มเดิมทีใช้ภาพนักรบผู้กล้านามว่า ‘ เฉิงชิ่ง (成庆) ’
ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาพวาดของ ‘ จิงเคอ (荆轲) ’ จอมยุทธ์ชื่อดังสมัยจ้านกั๋ว
(475 – 221 B.C.)

‘เหมินเสิน’ ในราชวงศ์ใต้และเหนือ (ค.ศ.420 - 589)
จะเป็นภาพคู่เทพเจ้าสองพี่น้อง ‘ เสินถู (神荼) ’ และ ‘ ยูไล (郁垒) ’
ตลอดจนสองขุนพลเอกในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 - 907)
ที่มีชื่อว่า ‘ ฉินซูเป่า (秦叔宝) และ อี้ว์ฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德) ’
แต่ต่อมา กษัตริย์ถังไท่จงหลี่ซื่อหมิน
รู้สึกเห็นใจว่า สองขุนพลจะลำบากเกินไป
จึงได้สั่งให้จิตรกรหลวงวาดภาพสองขุนพลขึ้นมา
แล้วใช้ติดไว้ที่ประตูทั้งสองข้างแทน
จึงได้กลายเป็นภาพ ‘เหมินเสิน’ ในเวลาต่อมา




จงขุย เทพเจ้าผู้ปราบภูติผีปีศาจ



เมื่อถึงยุค 5 ราชวงศ์ (ค.ศ.907-960) ได้เริ่มนำภาพของ
" จงขุย (钟馗) " เทพผู้ปราบภูตผีปีศาจ มาติดเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

หลังราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960 - 1127)
‘เหมินเสิน’ ยังมีรูปแบบเหมือนก่อนหน้านั้น
แต่เพิ่มการประดับตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามขึ้น
ในห้องรับแขกและห้องนอนจะมีการติดภาพเทพเจ้า 3 องค์ (三星)
ที่เราคุ้นหูกันดีว่า ‘ ฮก ลก ซิ่ว (福 – 禄 – 寿) ’
นอกจากนั้น ยังมีภาพ " ชุมนุมเทพเจ้า (万神图) " ตามอย่างลัทธิเต๋า
และภาพพระพุทธเจ้า 3 ปาง " ซันเป่าฝอ (三宝佛) " ฯลฯ ด้วย

ว่ากันว่า การติดภาพ ‘เหมินเสิน’ ก็เพื่อป้องกันขับไล่สิ่งชั่วร้าย
หรือเป็นเสมือนเทพผู้คอยปกปักษ์รักษานั่นเอง


ครั้งหน้าเราจะมาดูกันว่า ‘ ชุนเหลียน ’ (春联 ) และ ‘เหนียนฮว่า ’ (年画 ) คือ อะไร ค่ะ


ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความ และภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์
- กระทรวงวัฒนธรรมจีน
- http://www.lhchinesepaintings.com
- BG สวยๆ จากคุณ lozocat

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แหล่งเงินทุนธนาคารพาณิชย์

อาหารปลอดภัยด้วยรังสี

ไไไใเนนเสำใแนท = พิมผิดคร้าบบ