เกร็ดตรุษจีน # 2 ชุนเหลียน - เหนียนฮว่า

ที่มา คุณ peijing Bloggang.com


ชุนเหลียน (กลอนคู่)




กระดาษคู่ที่เขียนตัวอักษรในแนวตั้งคู่ 4 ตัวอักษร หรือคู่ 7 ตัวอักษร
ที่ชาวจีนแขวนไว้ที่เสาหรือประตูหน้าบ้านทั้งสองข้าง เรียกว่า " ตุ้ยเหลียน "
ถ้าเรียกให้เฉพาะเจาะจงถึงตุ้ยเหลียนที่ใช้แขวนประดับในช่วงเทศกาลวันตรุษจีน
ที่มักเป็นกระดาษแดงที่เขียนบทกลอนหรือคำขวัญอวยพรในวันปีใหม่
ด้วยตัวอักษรสีทองหรือสีดำนั้น เรียกว่า " ชุนเหลียน " (春联)



คุณลุงเจิงเจิ้นเต๋อ
กำลังเขียนชุนเหลียนไว้รอรับลูกค้าช่วงเทศกาลตรุษจีน ริมถนนเจริญกรุง


จากบทสัมภาษณ์ คุณลุงเจิงเจิ้นเต๋อ โดยผู้จัดการออนไลน์
คุณลุงเจิงเจิ้นเต๋อ ผู้ยึดอาชีพเขียนตุ้ยเหลียนริมถนนเจริญกรุงมา 10 กว่าปี
เล่าว่า ในช่วงตรุษจีนคำอวยพรที่นิยมในกลุ่มพ่อค้าเชื้อสายจีนในไทย
มักเป็นคำกลอนเพื่อขอพรให้กิจการค้ารุ่งเรือง
อาทิ ‘ 财源广进 生意兴隆’ (ไฉหยวนกว่างจิ้น เซิงอี้ซิงหลง)
หรือ คำอวยพรทั่วไปที่ติดปากคนไทยไปแล้ว อย่างเช่น
‘ 新正如意 新年发财’(ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวกไช้) ตรงกับเสียงในภาษาจีนกลางว่า
" ซินเจิ้งหยูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ "
หมายถึง อวยพรให้สมปรารถนาและร่ำรวยในวันขึ้นปีใหม่

เนื่องจากการเขียนชุนเหลียนนับเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง
อักษรบนกลอนคู่ชุนเหลียนต้องเป็นลายมือที่งดงามจริงๆ
จึงจะสามารถขายได้ ตัวอักษรที่พบเห็นบนชุนเหลียนแถบเยาวราช
โดยมากมักเขียนเป็นตัวบรรจงสมัยฮั่น
ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีลีลาสะบัดพู่กันแตกต่างกัน
เสน่ห์ของชุนเหลียนเหล่านี้อยู่ที่น้ำหนักของเส้นสายสีทอง
บนพื้นกระดาษสีแดงสดที่ถ่ายทอดมาจากมือผู้เขียน
คนที่รับจ้างเขียนตุ้ยเหลียนหรือชุนเหลียน
จึงไม่อาจว่างเว้นการฝึกฝีมือเขียนพู่กันจีน หรือ 书法(ซูฝ่า)ได้เลย

ถึงแม้ในปัจจุบัน วิวัฒนาการด้านการพิมพ์ก้าวหน้า
สามารถผลิตแผ่นกลอนคู่ออกมาแข่งกับชุนเหลียนทำมือทีละจำนวนมากๆ
สีสันก็สดใสแวววาวกว่า แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ชื่นชมในความงามทางศิลปะ
ที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรจีนซึ่งเขียนขึ้นด้วยมืออยู่นั่นเอง




ประเพณีการติดชุนเหลียนในเมืองและชนบทของจีน
ในช่วงเทศกาลตรุษเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง
และแพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยราชวงศ์หมิง
ในบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า

จักรพรรดิหมิงไท่จู่จูหยวนจาง ทรงโปรดตุ้ยเหลียนเป็นอย่างมาก
ถึงกับทรงพู่กันจีนประพันธ์ตุ้ยเหลียนอยู่บ่อยครั้ง และยังสนับสนุนข้าราชการ
ในราชสำนักและชาวเมืองให้เขียนตุ้ยเหลียนกันถ้วนหน้า
มีเรื่องเล่าว่า ในวันตรุษปีหนึ่ง
องค์ไท่จู่ได้เสด็จประพาสบ้านเรือนประชาชนเพื่อทอดพระเนตรชุนเหลียน
พบว่าที่บ้านหลังหนึ่งยังไม่มีชุนเหลียนติดที่ประตู สืบถามได้ความว่า
เจ้าของบ้านเป็นคนฆ่าหมูกำลังกลุ้มใจว่าหาคนเขียนชุนเหลียนไม่ได้
พระองค์จึงพระราชทานชุนเหลียนฝีพระหัตถ์แก่คนฆ่าหมูผู้นั้น
ความหลงใหลในความงามบนตัวอักษร
และศิลปะการประพันธ์กลอนคู่ของฮ่องเต้ไท่จู่
ส่งผลให้ความนิยมชุนเหลียนในหมู่สามัญชนแพร่หลายอย่างมากในสมัยนั้น


คำอวยพรบนกลอนคู่วันตรุษในแผ่นดินใหญ่ที่นิยม เช่น
‘ 爆竹一声除旧岁 桃符万户迎新年’
เป้าจู๋อี้เซิงฉูจิ้วซุ่ย เถาฝูวั่นฮู่อิ๋งซินเหนียน
หมายถึง การพรรณนาบรรยากาศการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ด้วยการจุดประทัด
‘ 天增岁月人增寿 春满乾坤福满门’
เทียนเจิงซุ่ยเย่ว์เหยินเจิงโซ่ว ชุนหม่านเฉียนคุนฝูหม่านเหมิน
หมายถึง โชคดีปีใหม่สุขถ้วนหน้า

สำหรับผู้ทำการค้านิยมกลอนคู่ที่มีความหมายอวยพร
ให้การค้ารุ่งเรือง เงินทองไหลมาเทมา เช่น
‘ 财源茂盛达三江 生意兴隆通四海’
(ไฉหยวนเม่าเซิ่งต๋าซันเจียง เซิงอี้ซิงหลงทงซื่อไห่) หรือ
‘ 门迎春夏秋冬福 户纳东西南北财’
(เหมินอิ๋งชุนเซี่ยชิวตงฝู ฮู่น่าตงซีหนันเป่ยไฉ) เป็นต้น



ภาพมงคล - เหนียนฮว่า


ในบรรดาสารพัดสิ่ง ‘ เสริมสิริมงคล ’ ช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น
นอกจากการแขวนโคมแดง กินเกี๊ยว
แปะภาพตัดกระดาษ(เจี๋ยนจื่อ 剪纸) ติดคำอวยพรกลอนคู่ (ชุนเหลียน 春联) แล้ว
ชาวจีนยังถือเคล็ดตกแต่งบ้านเรือนด้วย
ภาพมงคลต้อนรับปีใหม่หรือเหนียนฮว่า(年画) ’ มาช้านาน

เหนียนฮว่า เจ้าเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อลือนามเป็นผลงานจาก
หมู่บ้านหยังหลิ่วชิง (杨柳青) ’ ในนครเทียนจิน
ที่มีมาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง ในสมัยจักรพรรดิฉงเจิน (ค.ศ.1627-1644)
พัฒนาฝีมือรุ่งเรืองมีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงสมัยจักรพรรดิกวงซี่ว์ (กวงสู)
แห่งราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1644-1911)
และเกือบสูญสลายไปในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครอง
ก่อนจะกลับมาโด่งดังอีกครั้งในทศวรรษที่ 60

เอกลักษณ์ของภาพมงคลสกุลช่างหยังหลิ่วชิง
อยู่ที่กรรมวิธีการผลิตแบบ ‘ ครึ่งพิมพ์ครึ่งวาด
โดยใช้แม่พิมพ์ไม้แกะสลักฝีมือประณีต ที่ให้ภาพพิมพ์ลวดลายงดงามคมชัด
แล้วนำมาแต่งแต้มเติมสีด้วยมืออย่างวิจิตรบรรจง


ไม่เพียงเหนียนฮว่าจะดึงดูดใจด้วยสีสันที่สดใส
แต่ยังมีเสน่ห์ที่สรรพสิ่งในภาพล้วนซ่อนความหมายมงคลไว้
อย่างของบ้านหยังหลิ่วชิงแต่โบราณ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปเด็กน้อยอ้วนท้วน
แก้มสีชมพูระเรื่อ ร่าเริงน่ารัก มักถือลูกท้อ ลูกทับทิม
อุ้มปลาคราฟ ปลาทอง หรือ ถือดอกบัวในมือ
โดยแต่ละอย่างจะแฝงความหทายที่เป็นสิริมงคลไว้ ได้แก่

- เด็กน้อยอ้วนท้วน แทน ความสมบูรณ์พูนสุข
- ลูกท้อ (เถาจื่อ 桃子) แทน อายุมั่นขวัญยืน
- ลูกทับทิม (สือหลิ่ว 石榴) แทน ลูกหลานมากมาย
- ค้างคาว (เปียนฝู 蝙蝠)
พ้องเสียงกับคำว่า " ฝู (福) " ที่แปลว่า ความสุขสวัสดี
- ปลา (อี๋ว์ 鱼)
พ้องเสียงกับคำว่า " อี๋ว์ (余) " ที่แปลว่า เหลือ,เกิน
- ปลาทอง (จินอี๋ว์ 金鱼) แทน เงินทอง
- ปลาคราฟ (หลี่อี๋ว์ 鲤鱼) แทน ความเจริญก้าวหน้า
- แจกัน (ฮวาผิง 花瓶)
พ้องเสียงกับคำว่า " ผิงอัน (平安) " ที่แปลว่า ความสงบสุข
- ดอกโบตั๋น (หมู่ตันฮวา 牡丹花) แทน ความร่ำรวยมีวาสนา
- ดอกบัว (เหลียนฮวา 莲花) แทน ความต่อเนื่องยืนยาวตลอดไป


ภาพมงคลยังถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์รูปแบบหนึ่ง
ที่สะท้อนแนวคิด วิถีชีวิต ตำนานเรื่องเล่า และความหวังของชาวมังกร
โดยเชื่อว่า การติดเหนียนฮว่า จะนำมาซึ่งความเจริญมั่งคั่ง
อยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย
ส่วนเหนียนฮว่าภาพเทพเจ้า จะช่วยปกป้องคุ้มครอง ขับไล่ภูตผีและสิ่งชั่วร้าย
ขณะที่ภาพมงคลในยุคปิดกั้นวัฒนธรรมโบราณ
ได้แปลงโฉมเป็นภาพวิวทิวทัศน์แทน
ปัจจุบันเหนียนฮว่ายังกลายเป็นของล้ำค่าในบรรดานักสะสม

ทั้งนี้ เหนียนฮว่า แบ่งได้ 3 ประเภทตามลักษณะการผลิต ได้แก่
ภาพพิมพ์ ภาพลายฉลุกระดาษ และภาพวาด
ซึ่งสำหรับประเภทภาพจากแม่พิมพ์ไม้แกะสลัก นอกจากหยังหลิ่วชิงแล้ว
ยังมีภาพมงคล " เหวยฝาง ( 潍坊) " จาก มณฑลซันตง
" เหมียนจู๋ ( 绵竹) " จาก เสฉวน และ " เถาฮวาอู้ ( 桃花坞) " จาก เจียงซู
เหนียนฮว่า จากที่ง 4 แห่งนี้ ได้รับการขนานนามเป็น
" 4 สุดยอดสำนักภาพพิมพ์เหนียนฮว่าแห่งแดนมังกร "



" เหลียนเหนียนโหย่วอี๋ว์ " หมายถึง มีเงินมีทองใช้ตลอดปี “



" เจียไฉเสิน " หมายถึง ต้อนรับเทพเจ้าแห่งโชคลาภเงินทอง



" เฟิ่งหวงไหลอี๋ " หมายถึง หงส์ -มังกร (สัญลักษณ์แห่งสิริมงคล) มาอวยพรถึงที่



" ‘ชุนหนิวถู " หมายถึง ขอให้ขยันทำมาหากิน (วัว=ความขยันหมั่นเพียร)



" ฝูโซ่วซันตัว " หมายถึง เจริญด้วยความสุข ลาภยศ และมีอายุยืน (ฮก-ลก-ซิ่ว)



"ซันซิงถู 三星图 " หมายถึง เทพเจ้าฮก-ลก-ซิ่ว



*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล,บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์
- http://www.sc.xinhuanet.com
- http://bbs6.house.sina.com.cn
- http://www.huaxia.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แหล่งเงินทุนธนาคารพาณิชย์

อาหารปลอดภัยด้วยรังสี

ไไไใเนนเสำใแนท = พิมผิดคร้าบบ