รังสีรักษา 1ในวิธีบำบัดเยียวยามะเร็ง

ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจาก “โรคมะเร็ง” เป็นจำนวนมากมายทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่า ภายใน พ.ศ. 2588 จะมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน และในประเทศไทยสถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งก็อยู่ในอันดับต้น ๆ มาโดยตลอด

“มะเร็ง” เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และสามารถทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงและกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ โดยผ่านไปตาม ต่อมน้ำเหลือง และกระแสเลือด แม้วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จะค้นคว้ามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่อาจระบุสาเหตุที่แท้จริงของโรคมะเร็งได้ จะทราบก็แต่เพียงเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็ง เช่น พันธุกรรม ความเครียด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พฤติกรรมและสุขนิสัยส่วนตัว รวมถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่เราไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของโรคร้ายนี้ ยิ่งทำให้โรคนี้ทวีความน่ากลัวขึ้นไปอีก ทั้งที่ความจริง โรคมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ถ้ามีการตรวจพบ และได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาโรคมะเร็งนั้น สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกันไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด เคมีบำบัด หรือ ฮอร์โมนบำบัด แต่มีอยู่วิธีหนึ่ง ซึ่งมีการนำพลังงานนิวเคลียร์มาเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือ “รังสีรักษา”

รังสีรักษา เป็นสาขาหนึ่งของเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ ในกรณีผู้ป่วยระยะเริ่มต้น ส่วนในกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ รังสีก็สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวด แน่นหน้าอก หายใจลำบาก รวมทั้งอาการเลือดออกมากได้ ไม่เพียงแต่ในขั้นตอนการบำบัดรักษาเท่านั้นที่รังสีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในขั้นตอนอื่น ๆ เช่น การวินิจฉัยและพยากรณ์โรค การติดตามผลการรักษา และการติดตามอาการของผู้ป่วย ก็สามารถนำรังสีมาช่วยได้เช่นกัน

ปัจจุบันสารเภสัชรังสีบางส่วนที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ได้มาจากการผลิตของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยเริ่มดำเนินการศึกษา วิจัย และให้บริการด้านสารไอโซโทปรังสีมาตั้งแต่ปี 2506 ซึ่งสารไอโซโทปรังสีที่ ปส. ผลิตขึ้นนั้น มีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมาก ปัจจุบันมีการให้บริการสารไอโซโทปรังสีให้แก่โรงพยาบาลและสถาบันด้านการแพทย์ของรัฐและเอกชน กว่า 20 แห่ง ในแต่ละปีมีผู้รับการรักษาด้วยไอโซโทปรังสีไม่ต่ำกว่า 100,000 คน สามารถประหยัดงบประมาณในการสั่งซื้อจากต่างประเทศได้ปีละ ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

การตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งด้วยรังสีนั้น สามารถทำได้ทั้งจากภายนอกร่างกาย เช่น การฉายรังสีจากเครื่องเร่งอนุภาค และจากภายในร่างกาย เช่น การฉีดหรือกลืนสารเภสัชรังสี ซึ่งเป็นยาที่มีส่วนประกอบของสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย การตรวจด้วยรังสีสามารถสืบค้นการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งที่ลาม มายังกระดูก และมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ปัจจุบันนี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการสืบค้นมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า PET (Positron Emission Tomography) ซึ่งเครื่องมือนี้ใช้ในการถ่ายภาพอวัยวะภายในของผู้ป่วยที่ฉีด หรือกลืนสารเภสัชรังสีเข้าไป ทำให้แพทย์สามารถวิเคราะห์หาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงการแพร่กระจายของมะเร็งได้อย่างแม่นยำ สำหรับการตรวจจากภายนอกร่างกายนั้น เป็นการตรวจที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับรังสี เพราะเป็นการนำตัวอย่างของเหลว เช่น เลือด หรือ น้ำลายของผู้ป่วย ไปตรวจกับสารเภสัชรังสีภายนอกร่างกาย การตรวจด้วยวิธีนี้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อตรวจหาปริมาณสารบอกมะเร็ง และยังใช้ติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งว่ามีผลตอบสนองต่อการรักษามากน้อยเพียงใด ช่วยให้ การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของการรักษาโรคมะเร็งนั้น มีการนำสารกัมมันตรังสีมาใช้รักษาโรคมะเร็ง ได้หลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งต่อมหมวกไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ที่สำคัญที่สุดและได้ผลดีที่สุด คือ การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยใช้ร่วมกับการผ่าตัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ และป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง นอกจากนั้นยังมีการใช้สารกัมมันตรังสีเพื่อระงับ ความปวดจากโรคมะเร็งที่แพร่มายังกระดูกได้อีกด้วย

ไม่เพียงแต่โรคมะเร็งเท่านั้นที่สามารถนำรังสีมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาได้ หากแต่เรายังนำรังสีไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน วินิจฉัยการอุดตันของเส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงปอด และ สมอง ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ในทารก เพื่อป้องกันโรคเอ๋อ ตรวจสอบภูมิต้านทาน รักษาโรคไขข้ออักเสบ รวมทั้งยังใช้ตรวจสอบระดับฮอร์โมน รวมถึงปริมาณยา และสารเสพติดในร่างกาย ได้อีกด้วย

มาถึงตรงนี้หลายคนคงเกรงว่าการใช้รังสีในการตรวจรักษาโรค จะมีผลกระทบต่อร่างกาย ความจริงแล้วปริมาณของสารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้ในการผลิตสารเภสัชรังสีนั้นนับเป็นปริมาณ ที่น้อยมาก และผ่านการศึกษาวิจัยแล้วว่า เป็นปริมาณที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้ง สารรังสีเหล่านี้จะสลายตัวไปในเวลาอันสั้น และยังถูกขจัดออกจากร่างกายผ่านทางการขับถ่าย ได้อีกด้วย

การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ทางการแพทย์ เป็นเพียงประโยชน์ด้านหนึ่งของพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น แท้จริงแล้วพลังงานนิวเคลียร์ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในวงการอื่น ๆ ได้อีกมากมาย หากเราลองเปิดใจยอมรับในด้านดีของพลังงานนิวเคลียร์แล้วละก็ จะพบว่าประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์นั้น มีมากกว่าข้อเสียที่เราเคยรับรู้มาหลายเท่านัก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แหล่งเงินทุนธนาคารพาณิชย์

อาหารปลอดภัยด้วยรังสี

ไไไใเนนเสำใแนท = พิมผิดคร้าบบ